ประวัติ


นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2497 โดยรัฐบาลในขณะนั้นประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ.2497
ก่อนหน้านี้ รัฐเป็นผู้ลงทุนในอุตสาหกรรม โดยจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาดำเนินการ แต่เมื่อประสบกับปัญหารายได้จากการส่งออกข้าวลดลง จนทำให้ขาดดุลชำระเงิน ใน พ.ศ.2496 จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องลดบทบาทของรัฐให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแทน โดยรัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุน และให้หลักประกันสำหรับนักลงทุนต่างประเทศว่า จะนำเงินกำไรกลับประเทศได้ จึงมีการออกกฏหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมา นับเป็นประเทศแรกในภูมิภาคนี้ที่มีกฏหมายเฉพาะเพื่อการส่งเสริมการลงทุนขึ้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี พ.ศ.2497-2501 ที่มีการใช้กฏหมายฉบับนี้ มีกิจการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพียง 9 ราย และได้รับการอนุมัติเพียง 6 รายเท่านั้น เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฏหมาย ขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเป็นรายๆไป และต้องใช้เวลานานกว่าจะทราบผล
ดังนั้น รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ปรับปรุง แก้ไขกฏหมายส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ.2497 และตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม พ.ศ.2503 ซึ่งมีความสใบูรณ์มากขึ้น โดยกำหนดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้ให้มีความยืดหยุ่นน้อยลง คือจากเดิม 2-5 ปี ให้เป็นเหมือนกันหมดคือ 5 ปีเท่านั้น และยังมีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม" มีอำนาจหน้าที่ให้การส่งเสริมการลงทุน มีกรรมการทั้งหมด 36 ท่าน โดยมีคุณทวี บุณยเกตุ เป็นประธานคนแรก
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมนั้น ไม่มีบุคลากรประจำ ต้องยืมตัวข้าราชการจากหน่วยต่างๆ มาทำงาน ดังนั้น จึงได้มีการแก้ไขกฏหมายส่งเสริมการลงทุนเมื่อ
พ.ศ.2508 จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2509 มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีที่ทำการอยู่ที่ถนนราชดำเนินกลาง
ใน พ.ศ.2515 มีการเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการและสำนักงานจากเดิม โดยตัดคำว่า "เพื่อกิจการอุตสาหกรรม" ออกไปเป็น "คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน" และ "สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน" เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมกิจการอื่นๆ มากขึ้น เช่น เกษตรกรรม บริการ ฯลฯ
กฏหมายส่งเสริมการลงทุน ได้รับการปรับปรุงแก้ไขหลายครั้งเพื่อให้ทันสมัย สามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้จริง การแก้ไขครั้งสำคัญมีขึ้นเมื่อ พ.ศ.2520 เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ขึ้น เพื่อใช้แทนประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 227 ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2515
ภายใต้กฏหมายฉบับนี้ มีการยกระดับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนโดยบัญญัติให้ "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม" เป็นประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ โดยตำแหน่งมีการปรับปรุงในด้านสิทธิและประโยชน์ให้มีความหลากหลาย และยืดหยุ่นมากขึ้น เพิ่มหลักประกันแก่นักลงทุน
ใน พ.ศ.2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 100/2557 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กำหนดให้โอนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม ไปเป็น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี